วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิธีจัดการกับความอ้วนอุ้ยอ้าย...ของแฟ้ม โดย สมเกียรติ ฟุ้งเกียรติ


http://www.excelexperttraining.com/blogs/archives/z200-eLearning000717.php

วิธีจัดการกับความอ้วนอุ้ยอ้าย...ของแฟ้ม

แฟ้ม Excel ที่เราเพิ่งเปิดใช้งานขึ้นใหม่ในวันนี้ จะเริ่มมีขนาดแฟ้มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แล้วเมื่อวันเวลาผ่านไปสักปีสองปี คอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ก็จะทำงานช้าลงไปจนผิดสังเกตโดยมีเหตุมาจากแฟ้มใหญ่ขึ้นมากนี่แหละ ตัวผู้ใช้ Excel มักชอบวิ่งไปบอกหัวหน้า ขอให้ซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่เพื่อจะได้ทำให้ Excel ทำงานเร็วเหมือนเดิม ซึ่งถ้าผมเป็นหัวหน้าของคุณล่ะก้อ ... แทนที่จะเปลี่ยนคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ ขอเปลี่ยนตัวพนักงานเป็นคนอื่นจะดีกว่า !!! เพราะแม้จะได้ใช้คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่แล้วก็ตาม ต่อมาพอแฟ้มเริ่มใหญ่ขึ้นอีก คอมพิวเตอร์ก็จะช้าลงไปอีก แล้วเราก็ต้องซื้อเครื่องใหม่ที่เร็วขึ้นกว่าอีกหรืออย่างไรกัน
ก่อนที่จะสายเกินไป ผู้ใช้ Excel ควรเข้าใจก่อนว่า ที่ว่าแฟ้ม Excel ใหญ่ขึ้นนั้น อะไรบ้างที่เป็นเหตุให้แฟ้มมีขนาดใหญ่ขึ้น แล้วอย่านึกต่อไปว่า แฟ้มใหญ่ต้องใช้เวลาคำนวณนานกว่าแฟ้มที่เล็กกว่าเสมอไป ซึ่งเมื่อเข้าใจประเด็นเหล่านี้แล้วเราต้องหาทางออกแบบแฟ้มให้ใหญ่พอดีๆ ไม่ใหญ่ ไม่เล็กเกินไป และไม่ใช้เวลาคำนวณช้าจนรอไม่ไหว
สิ่งที่มีผลต่อขนาดของแฟ้ม
  1. จำนวนเซลล์ที่ใช้
  2. จำนวนเซลล์ที่ถูกอ้าง
  3. รูปแบบหรือ Format ที่ใช้
จำนวนเซลล์ที่ใช้
แฟ้ม Excel ในยุคแรก มีขนาดแฟ้มใหญ่มากเพราะกำหนดว่า พื้นที่ตารางทุกเซลล์ตั้งแต่เซลล์ A1 ไปจนถึงเซลล์หัวมุมขวาล่างสุดที่มีข้อมูลอยู่ถือเป็นพื้นที่ซึ่งถูกใช้งาน ต่อมา Excel ได้พัฒนาให้ขนาดของแฟ้มไม่ต้องนับจากเซลล์ A1 แต่ให้นับเฉพาะเซลล์ที่ถูกใช้งานเท่านั้น ส่วนเซลล์ที่เราไม่ได้เข้าไปแตะต้องแก้ไขใส่อะไรลงไป ไม่มีส่วนกระทบต่อขนาดของแฟ้มแต่อย่างใด ซึ่งช่วยให้เราสามารถใช้พื้นที่ตารางได้สะดวก ไม่ต้องออกแบบตารางให้ชิดติดกันเป็นพืด เพื่อหาทางลดขนาดแฟ้มอย่างแต่ก่อน
ขอให้สังเกตว่า ขนาดของแฟ้ม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนอักขระที่มีอยู่ในเซลล์ ไม่ว่าจะพิมพ์เลข 1 ลงไปในเซลล์ 100 เซลล์ หรือพิมพ์เลข 123 ลงไปในเซลล์ 100 เซลล์ แฟ้มก็ยังคงมีขนาดใหญ่เท่ากันเพราะใช้จำนวนเซลล์ 100 เซลล์เท่ากัน แต่อย่างไรก็ตามในเซลล์จำนวน 100 เซลล์ที่สมมติว่าถูกพิมพ์ค่าลงไปนั้น หากพิมพ์ตัวอักษรหรือสร้างสูตรลงไปก็จะทำให้แฟ้มมีขนาดใหญ่ขึ้นตามลักษณะของข้อมูลที่พิมพ์ลงไป ซึ่งลำดับขนาดแฟ้มจากเล็กไปใหญ่ขึ้นกับประเภทของข้อมูล ดังนี้
  1. ถ้าเป็นตัวเลข แฟ้มจะเล็กที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเลข 1 หรือเลข 123 แฟ้มยังคงมีขนาดเท่ากัน
  2. ถ้าเป็นตัวอักษร แฟ้มจะใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร A หรือ ABC แฟ้มยังคงมีขนาดเท่ากัน
  3. ถ้าเป็นสูตรและคืนค่าเป็นตัวเลข แฟ้มจะใหญ่ขึ้น
  4. ถ้าเป็นสูตรและคืนค่าเป็นตัวอักษร แฟ้มจะใหญ่มากที่สุด
จำนวนเซลล์ที่ถูกอ้าง
ในกรณีที่สร้างสูตร link ข้อมูลข้ามแฟ้ม จะพบว่าแฟ้มปลายทางมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก หรือบางครั้งจะมีขนาดใหญ่กว่าแฟ้มต้นทางเสียอีก ทั้งๆที่ในแฟ้มปลายทางมีเซลล์ที่ใช้งานเพียงเซลล์เดียวก็ตาม เนื่องจากในสูตร link ข้ามแฟ้มที่สร้างไว้ในเซลล์ได้นำข้อมูลจากแฟ้มต้นทางมาเก็บไว้ในแฟ้มปลายทาง เรียกว่า Cache Data
ยกตัวอย่างเช่น สูตร =VLOOKUP(A1,[Input.xls]Sheet1!$B$2:$H$200,2) ที่หาค่าจากแฟ้ม Input.xls ในชีท Sheet1 ตั้งแต่เซลล์ B2:H200 นี้ จะทำให้ Excel แอบสร้างตารางที่เรามองไม่เห็นเก็บข้อมูลจากแฟ้มต้นทางทั้งหมดไว้ในแฟ้มปลายทางที่มีสูตรนี้อยู่ ซึ่งตารางที่มองไม่เห็นนี้แหละเป็น Cache Data
Cache Data ช่วยทำให้เมื่อเปิดแฟ้มปลายทางขึ้นมาใช้เพียงแฟ้มเดียว เราก็สามารถใช้สูตร VLookup ค้นหาข้อมูลจากแฟ้มต้นทางได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแฟ้มต้นทางขึ้นมาใช้พร้อมกับแฟ้มปลายทางแต่อย่างใด แต่ก็ทำให้แฟ้มปลายทางมีขนาดใหญ่ขึ้น
หากทุกครั้งต้องเปิดแฟ้มที่ link กันทั้งหมดขึ้นมาใช้งานพร้อมกันอยู่แล้ว เราสามารถสั่งให้ Excel ตัด Cache Data ในแฟ้มปลายทางทิ้งได้เลย โดยใช้คำสั่ง Tools > Options > Calculation > ตัดกาช่อง Save external link values ทิ้งไป ซึ่งเมื่อตัดกาช่องนี้ออกไปแล้ว จะพบว่าแฟ้มปลายทางมีขนาดเล็กลงอย่างมาก แต่อย่าลืมว่าหากต้องการให้สูตรคำนวณได้ตามปกติ ต้องเปิดแฟ้มทั้งหมดที่ link กันก่อน หรือในระหว่างที่เปิดแฟ้มปลายทางขึ้นมาใช้งาน เราจำเป็นต้องสั่ง Update Links ก่อนเสมอ (ซึ่งวิธีนี้จะช่วยสร้าง Temporary Cache Data เก็บไว้ในหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ ทำให้สูตรในแฟ้มปลายทางใช้ข้อมูลใน Cache นี้ต่อได้อีก)
แทนที่จะเสียเวลาสั่ง Update Links ในช่วงเปิดแฟ้ม เราสามารถสั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์จำไว้เลยว่า ทุกครั้งที่เปิดแฟ้มปลายทางขึ้นมาให้ Excel สั่ง Update Links ให้เองทันที โดยสั่ง Tools > Options > Calculation > Edit > ตัดกาช่อง Ask to update automatic links ทิ้งไป หรือภายหลังจากที่เปิดแฟ้มปลายทางขึ้นมาโดยไม่ได้สั่ง Update Links ตั้งแต่ตอนช่วงเปิดแฟ้ม เราก็สามารถสั่ง Update Links ได้ทุกเมื่อที่ต้องการในแฟ้มปลายทางโดยใช้คำสั่ง Edit > Links > Update Values ซึ่งจะช่วยสร้าง Temporary Cache ให้แฟ้มปลายทางทำงานต่อไปได้ตามปกติ
รูปแบบหรือ Format ที่ใช้
ในแฟ้มหนึ่งๆรับรูปแบบได้สูงสุดเพียง 4,000 แบบ โดยรูปแบบที่ว่านี้เป็นรูปแบบที่เกิดจากเมนูคำสั่ง Format > Cells นั่นเอง (ซึ่งน่าจะรวมถึง Format > Conditional Formatting หรือไม่นั้นยังไม่มีข้อมูลชัดเจน) หากเมื่อใดที่ Excel เตือนขึ้นมาบนจอว่า Too many formats อะไรทำนองนี้ เราต้องรีบลบรูปแบบที่ไม่ได้ใช้งานทิ้งออกไปทันที เพราะอาจไม่สามารถเปิดแฟ้มที่เคยถูกเตือนเช่นนี้ขึ้นมาใช้งานได้อีก
การกำหนดรูปแบบให้กับชีททั้งชีทพร้อมกันทีเดียวทุกเซลล์ จะทำให้แฟ้มมีขนาดเล็กกว่าการกำหนดรูปแบบเพียงบางส่วนของตาราง เพราะ Excel จะใช้วิธีรับรู้ทีเดียวว่าชีทนั้นๆใช้รูปแบบใด แต่ถ้าในตารางมีการกำหนดรูปแบบต่างกันไปในแต่ละส่วน จะทำให้ Excel ต้องรับรู้ละเอียดมากขึ้นว่า พื้นที่ตารางส่วนใดใช้รูปแบบใด จึงทำให้แฟ้มมีขนาดใหญ่ขึ้น
ตามปกติ Excel ได้กำหนดไว้ในคำสั่ง Tools > Options > Edit > ให้กาช่อง Extend data range formats and formulas ไว้แล้วตั้งแต่ต้น เพื่อช่วยให้เซลล์ที่ใช้งานติดต่อกันไว้ตามแนวตั้งตั้งแต่ 3 เซลล์ขึ้นไป ส่งรูปแบบที่กำหนดไว้ใน 3 เซลล์นั้นต่อไปยังเซลล์ที่ 4 และเซลล์ต่อๆไปให้ทันที แล้วหากมีเซลล์ที่สร้างสูตรไว้ติดต่อกันตามแนวตั้ง 4 เซลล์อยู่แล้ว คำสั่งนี้จะช่วย copy สูตรและรูปแบบจากเซลล์ที่ 4 ไปยังเซลล์ที่ 5 ต่อไปเรื่อยๆให้เช่นกัน (ขอให้ท่องไว้ว่า ครบ 3 ได้ 4 ครบ 5 ได้สูตร หมายความว่า เดิมครบ 3 เซลล์ จะได้รูปแบบต่อในเซลล์ที่ 4 แล้วพอเริ่มครบ 5 เซลล์ จะได้ทั้งสูตรและรูปแบบตามต่อไปให้เอง) อย่างไรก็ตามคำสั่งนี้จะทำงานต่อเมื่อข้อมูลตามแนวตั้งที่บันทึกต่อกันไปเป็นค่าแบบเดียวกันทุกเซลล์ เช่น ถ้าบันทึกตัวเลขเอาไว้ ก็ต้องบันทึกตัวเลขในเซลล์ต่อไปเท่านั้น หากเมื่อใดที่บันทึกค่าเป็นตัวอักษรลงไปในเซลล์ที่ควรเป็นตัวเลข ต้องลบแถวนอนทั้งแถวทิ้งไปก่อน จึงจะกระตุ้นให้คำสั่งนี้ทำงานดังเดิม
ในกรณีที่ต้องการกำหนดให้ทุกชีทมีรูปแบบที่ใช้เหมือนกัน ขอแนะนำให้ใช้คำสั่ง Format > Style > Modify เพื่อกำหนดรูปแบบมาตรฐานให้ใช้แบบเหมือนกันทุกชีท ซึ่งในคำสั่งนี้หากเลือก Merge แทน Modify จะช่วยเลือกรูปแบบมาตรฐานจากแฟ้มอื่นมาใช้ต่อในแฟ้มต่อไปทำให้เกิดมาตรฐานในการใช้งานที่ควรใช้ร่วมกันทั้งบริษัท

สิ่งที่ผลต่อความเร็ว
ในเรื่องความเร็วนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเร็วในการคำนวณของโปรแกรม Excel เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อความเร็วของมนุษย์ในการใช้ Excel อีกด้วย นับตั้งแต่จะช้าหรือเร็วในการสร้างงาน สร้างเสร็จแล้วเมื่อนำมาแก้ไขจะต้องเสียเวลาแก้ไขช้าหรือเร็วเพียงใดกว่าจะแก้ไขเสร็จ บางคนใช้เวลาสร้างแฟ้มนิดเดียวแต่พอย้อนกลับมาแก้ไขแฟ้มเดิมกลับต้องเสียเวลาแก้ไขนานขึ้นมาก
สำหรับผู้สนใจการทำให้ Excel คำนวณได้เร็วที่สุด ขอเชิญติดตามไปอ่านบทความที่ผมเขียนไว้ในหัวข้อ Excel @ The Maximum Speed ได้ที่http://www.excelexperttraining.com/extra/tactic/maxspeed.html ส่วนในบทความนี้จะได้อธิบายเรื่องที่แปลกไปจากเดิม
มนุษย์นี่แหละต้นเหตุของความช้าอุ้ยอ้าย
แม้ยุคนี้เราใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แทนเครื่องคิดเลขกันมากขึ้น แต่แทนที่เครื่องคอมพิวเตอร์จะช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น หลายๆคนกลับทำงานเสร็จช้าลง จนแทบอยากจะย้อนไปกดปุ่มบนเครื่องคิดเลขที่ตนใช้ได้เร็วกว่า ทั้งนี้เนื่องจากคนเราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบทำอะไรใช้อะไรที่ตัวคุ้นเคยมาก่อน พอจะใช้คอมพิวเตอร์ก็คิดไม่ออกว่าจะใช้โปรแกรมอะไร ฟังเขามาว่าถ้าเรื่องของตัวเลขต้องใช้โปรแกรม Excel แต่ถ้าเรื่องเก็บข้อมูลต้องใช้ Access แล้วถ้าข้อมูลมีทั้งตัวเลขและตัวอักษรล่ะ จะใช้โปรแกรมอะไรดี บางคนอาจคิดง่ายๆว่า ถ้าข้อมูลมีเลขมากกว่า ก็ให้ใช้ Excel หรือถ้าข้อมูลมีตัวอักษรมากกว่าตัวเลข ก็ให้ใช้ Access แล้วกัน
ในประเด็นของการเลือกใช้โปรแกรม Excel หรือ Access นี้ ในเบื้องต้นสำหรับคนที่เพิ่งจับคอมพิวเตอร์ ขอแนะนำให้เลือกใช้ Excel กับงานที่ต้องการความยืดหยุ่น หรืองานที่ผู้ใช้ยังไม่มั่นใจว่าจะจัดโครงสร้างหน้าตาของตารางข้อมูลที่ต้องการเก็บไว้อย่างไร เพราะ Excel มีคำสั่งช่วยสำหรับการโยกย้ายข้อมูลเตรียมไว้พร้อม และเราอยากจะย้ายตารางไปเก็บไว้ที่ชีทอื่นแฟ้มอื่น ก็จะเห็นผลทันทีบนหน้าจอกับตา แถม Excel ยังช่วยแก้ไขสูตรที่เกี่ยวข้องกับตารางซึ่งถูกย้ายให้เสร็จ แล้วต่อมาภายหลังพอมีข้อมูลปริมาณมากขึ้น เริ่มมีมาตรฐานของโครงสร้างตารางแน่นอนตายตัวแล้ว จึงคิดถึง Access
ครั้นเลือกใช้ Excel สร้างตารางเก็บข้อมูลต่อไปสักพัก คอมพิวเตอร์แสนเร็วของเรากับผู้ที่ใช้ Excel ก็จะพร้อมใจกันกอดคอทำงานช้าลงไปเรื่อยๆ โดยมีสาเหตุยอดนิยมดังต่อไปนี้
  1. ออกแบบตารางเก็บข้อมูลไม่เป็น พอเปิดแฟ้มขึ้นดู แล้วงงไปหมดว่าข้อมูลอะไรอยู่ตรงไหน
  2. เก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวันที่ แต่วันที่ซึ่งเก็บบันทึกไว้ ไม่สามารถนำมาใช้คำนวณต่อได้
  3. เก็บข้อมูลซ้ำซ้อนกัน พอจะแก้ไขเป็นข้อมูลใหม่ต้องเสียเวลาหาตำแหน่งเซลล์ให้พบก่อนว่าอยู่ที่ชีทใดแฟ้มใด
  4. แยกข้อมูลที่เก็บไว้ในตารางเดียวกันออกจากกันไม่ได้ ต้องฝืนบันทึกข้อมูลต่อไปเรื่อยๆนับพันนับหมื่นบรรทัด
  5. สร้างสูตรยากๆยาวๆแบบฉันเองคนสร้างคนเดียวเท่านั้นที่จะแกะออก
  6. เลือกใช้สูตรไม่เป็น ชอบใช้สูตรสั้นๆที่คนชอบ แต่ Excel ไม่ชอบเพราะโปรแกรมจะทำงานช้าลง
  7. แยกตารางสูตรที่ไม่จำเป็นต้องคำนวณพร้อมกันออกจากกันไม่ได้ ทำให้ต้องเสียเวลารอการคำนวณสูตรซ้ำโดยไม่จำเป็น
  8. ไม่รู้จักแยกค่าตัวแปรที่อาจเปลี่ยนแปลงภายหลังไว้นอกสูตร
  9. สร้างชีทที่ใช้คำนวณเรื่องเดียวกันซ้ำกันเต็มไปหมด แต่ละชีทมีตารางหน้าตาเดียวกัน ต่างกันแต่ค่าที่นำมาใช้คำนวณ
  10. เลือกใช้ VBA กับงานที่ยังไม่ควรใช้ VBA แม้ VBA จะช่วยให้เสร็จงานเร็วขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เร็วขึ้นได้เต็มที่อย่างที่ควร
สาเหตุยอดนิยมเหล่านี้แหละที่ทำให้เราได้ผลลัพธ์จาก Excel ช้าลง แต่โดยทั่วไปผู้ใช้ Excel ที่ไม่เคยนำผลงานไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นมักจะหลงภาคภูมิใจในผลงานของตน และเข้าใจผิดไปว่าตนได้ใช้ Excel ช่วยสร้างผลงานที่เร็วขึ้น ดังนั้นการให้พื้นฐานในเรื่องแนวทางการใช้ Excel ที่ดีและถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
แนวทางการใช้ Excel ที่ดีและถูกต้อง
  • เราต้องมุ่งหวังที่จะใช้ Excel ให้ได้ผลงานมากขึ้นและเร็วขึ้นแบบคอมพิวเตอร์ นั่นคือ ต้องสามารถนำแฟ้มที่สร้างไว้แล้วกลับมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขสูตรหรือโครงสร้างตารางที่สร้างไว้แล้วอีกเลย
  • แยกโครงสร้างตารางเป็น 3 ประเภท คือ ตารางที่ใช้เก็บข้อมูล(ตัวเลขและหรือตัวอักษร) ตารางสำหรับสร้างสูตรคำนวณ และตารางสำหรับแสดงเป็นรายงาน
  • พึงระลึกไว้เสมอว่า สักวันหนึ่งข้อมูลในแฟ้มจะถูกเก็บไว้จนทำให้แฟ้มใหญ่และ Excel ทำงานช้าลง ดังนั้นต้องเตรียมโครงสร้างตารางที่พร้อมต่อการโยกย้ายไปเก็บไว้ที่แฟ้มอื่น
  • ข้อมูลที่เก็บไว้ในตารางที่ใช้เก็บข้อมูลต้องจัดเก็บไว้ในลักษณะโครงสร้างฐานข้อมูลที่สามารถนำไปใช้กับเมนู Data หรือใช้กับสูตรพวก Lookup ได้ทันที
  • ข้อมูลที่เป็นตัวเลข ต้องมีค่าเป็นตัวเลขอย่างแท้จริง ซึ่งมีลักษณะที่ต้องชิดขวาของเซลล์โดยไม่จำเป็นต้องใช้ Format
  • ห้ามพิมพ์ข้อมูลใดๆซ้ำโดยไม่จำเป็น แต่ให้ใช้สูตรนำค่าส่งต่อไปใช้เมื่อต้องการใช้ข้อมูลนั้นซ้ำ
  • ในชีทหนึ่งๆ พยายามสร้างสูตรเดียวซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับทุกตำแหน่งเซลล์ในชีทนั้นๆ ไม่ว่าจะมีการแก้ไขที่ทำให้ตำแหน่งโครงสร้างตารางเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม
  • สูตรที่สร้างขึ้นต้องใช้หลักการคำนวณที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจของตนเองและผู้อื่น และเมื่อทีเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขโครงสร้างสูตรให้ต่างไปจากเดิมมากนัก
  • ต้องใช้สูตรปรับค่าในเซลล์ให้ได้ค่าถูกต้องตามที่ต้องการก่อนแล้วจึงใช้คำสั่ง Format ปรับการแสดงผลของค่านั้นในภายหลัง
  • ในโครงสร้างสูตร ห้ามใส่ค่าคงที่ใดๆไว้อย่างเด็ดขาด
  • แทนที่จะสร้างสูตรยากๆยาวๆที่มีส่วนการคำนวณที่ซ้ำกันลงไปในตารางนับพันนับหมื่นเซลล์ ซึ่งทำให้แฟ้มใหญ่และคำนวณช้าลง ควรหาทางกระจายโครงสร้างสูตรออกเป็นสูตรสั้นๆหลายๆเซลล์แต่ใช้การคำนวณครั้งเดียว เพื่อทำให้แฟ้มเล็กลงและคำนวณเร็วขึ้น
  • อย่าลืมว่า ตารางที่เป็นสูตร จะมีขนาดแฟ้มใหญ่กว่าตารางที่เป็นตัวเลขหรือตัวอักษร ดังนั้นแทนที่จะใช้สูตรคำนวณค่าใดๆที่เป็นค่าคงที่ เช่น เลขลำดับ แนะนำให้ใช้ตารางที่เป็นตัวเลขผลจากการคำนวณแทนไปเลยดีกว่า
  • ในกรณีที่ต้องสร้างสูตรที่อ้างอิงกับตารางแนวนอนแนวตั้ง แนะนำให้เลือกตารางตามแนวนอนก่อนตารางแนวตั้งเพื่อสร้างมาตรฐานวิธีสร้างสูตรของตนเอง และนอกจากนั้นยังสอดคล้องกับโครงสร้างของสูตร Excel เช่น Index หรือ Offset จะใช้ตำแหน่งอ้างอิงตามแนวนอนก่อนแนวตั้งเสมอ
  • หากสร้างสูตรที่ต้องนำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ควรตั้งชื่อตำแหน่งเซลล์ (Range name) ที่สื่อถึงที่ไปที่มาของสูตร แทนการอ้างอิงกับตำแหน่งอ้างอิงโดยตรง
  • ควรแยกสูตรที่ไม่จำเป็นต้องคำนวณพร้อมกันออกเป็นแฟ้มแยกจากกัน (หรืออีกนัยหนึ่ง ให้เก็บเฉพาะสูตรที่ต้องคำนวณพร้อมกันเท่านั้นไว้ในแฟ้มเดียวกัน) เพื่อทำให้เราสามารถเลือกเปิดแฟ้มตามขอบเขตการคำนวณที่ชัดเจน และทำให้แฟ้มมีขนาดเล็กลง
  • ให้เลือกใช้ VBA เฉพาะเมื่อต้องการใช้ Excel ที่เหนือกว่าปกติจากสูตรและเมนูคำสั่งที่ทำได้ และรหัส VBA ที่ใช้ต้องสามารถใช้ได้ต่อเนื่องไปตลอดแม้โครงสร้างตารางจะเปลี่ยนแปลงต่างไปจากเดิมก็ตาม
  • ทุกอย่างมีได้ก็ต้องมีเสีย ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง ขอให้พิจารณาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียก่อนที่จะสร้างงาน เพื่อให้เหมาะสมกับเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมของการทำงาน
แนวทางการลดความอ้วน
ลองคิดดูว่า ถ้าเราเก็บรายการข้อมูลลงไปในชีทเต็มทั้งหมดทุก row แล้ว จะนำข้อมูลรายการใหม่ไปเก็บไว้ที่ไหน จะเริ่มต้นเก็บไว้ในชีทใหม่ในแฟ้มเดิมหรือจะเปิดแฟ้มใหม่?
ผู้ใช้ Excel ส่วนมากชอบเก็บข้อมูลไว้เรื่อยๆในชีทเดิมแฟ้มเดิมเพราะสะดวกในการค้นหาเรียกใช้ ซึ่งหากใช้คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่มีความเร็วสูงก็ไม่ต้องรอนานนัก แต่ถ้าเก็บข้อมูลไว้ในแฟ้มเดิมต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายเจ้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ว่าทำงานเร็วก็จะทำงานช้าลงช้าลง นี่เป็นเพราะเราชอบเก็บข้อมูลไว้ในแฟ้มเดิมต่อกันไป และก็ไม่เคยมีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลทั้งหมดที่เก็บไว้พร้อมกันสักครั้งเดียว
แล้วสูตรคำนวณที่สร้างไว้ มันต้องถูกนำมาคำนวณใหม่พร้อมกันทุกครั้งที่มีข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปแค่เซลล์เดียวหรือไม่ สูตรที่คำนวณหาต้นทุนสินค้าหรือค่าใช้จ่ายซึ่งมีค่าคงที่ ซึ่งนานๆจึงจะมีค่าเปลี่ยนแปลงไปสักที จำเป็นหรือที่รวมตารางคำนวณค่าคงที่เหล่านั้นไว้ในแฟ้มซึ่งมีสูตรคำนวณยอดกำไรจากการขาย
จากนั้นเมื่อถึงคราวต้องนำข้อมูลนับพันนับหมื่นบรรทัด หรือตารางรายงานที่ต้องพิมพ์นับร้อยนับพันหน้ามาแสดงให้ดูนั้น เราใช้สายตาดูตารางทั้งหมดหรือกระดาษทุกแผ่นที่พิมพ์ออกมาพร้อมกันทุกหน้าหรือไม่?
ผู้สร้างานต้องพิจารณาถึงประเด็นดังกล่าวข้างต้นไว้เสมอ ต้องพร้อมที่จะแยกข้อมูลที่เก็บไว้ในแฟ้มไปเก็บไว้ในแฟ้มอื่น ข้อมูลใดที่จำเป็นต้องเก็บไว้ใช้ เพื่อหาผลลัพธ์ที่ต้องการจากการคำนวณร่วมกันทุกครั้ง ก็ควรจัดเก็บไว้ในแฟ้มเดียวกับตารางที่เป็นสูตรคำนวณ แต่ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้คำนวณพร้อมกันก็ควรแยกออกเป็นแฟ้มต่างหากทำให้แฟ้มมีขนาดเล็กลง แล้วจึงใช้สูตร link ข้อมูลข้ามแฟ้มมาใช้คำนวณต่อตามแต่ว่าเราจะเลือกเอาข้อมูลมาใช้จากแฟ้มไหน ซึ่งจะช่วยให้ใช้ตารางสูตรหน้าเดียวตารางเดียวแต่สามารถคำนวณผลลัพธ์ได้ตามแต่ข้อมูลที่ link มาใช้อีกต่อหนึ่ง
ในกรณีที่ link ข้อมูลข้ามชีท ให้ใช้สูตร Indirect เลือกนำข้อมูลจากชื่อชีทที่ต้องการมาใช้ในชีทคำนวณ ส่วนกรณีที่ link ข้ามแฟ้ม ให้ใช้คำสั่ง Edit > Links > Change Source เพื่อเลือกชื่อแฟ้มที่ต้องการมาใช้ในแฟ้มคำนวณ

ผลจากสูตรที่มีต่อขนาดแฟ้มและความเร็วในการคำนวณ
จากนี้ขอนำผลการทดสอบจากการใช้สูตรคำนวณหลายหลายประเภทมาเล่าสู่กันฟัง และขอให้ลองหาข้อสรุปกันเองว่า สูตรแบบไหนดีกว่ากันและเพราะเหตุใด (โดยการทดสอบนี้ได้จากการสร้างสูตรลงไปในตารางขนาดใหญ่ตั้งแต่เซลล์ D1:D55,000 และใช้ Excel 2003 กับ Pentium D 3.0 GHz)
กรณีใช้สูตร SumIF เพื่อหายอดรวมตามเงื่อนไขเดียว
  • สูตร SumIF ใช้เวลา 4 วินาที / ขนาดแฟ้ม 2,984 KB
    เช่น =SumIF(IDRange,ID,NumRange)
  • สูตร SumIFArray ใช้เวลา 38 วินาที / ขนาดแฟ้ม 6,089 KB
    เช่น {=Sum(IF(IDRange=ID,NumRange))}
  • สูตร SumArray ใช้เวลา 47 วินาที / ขนาดแฟ้ม 5,547 KB
    เช่น {=Sum((IDRange=ID)*NumRange)}
  • สูตร SumProduct แบบใส่เครื่องหมาย -- ใช้เวลา 44 วินาที / ขนาดแฟ้ม 2,987 KB
    เช่น =SumProduct(--(IDRange=ID),NumRange)
  • สูตร SumProduct แบบใส่เครื่องหมายคูณ ใช้เวลา 50 วินาที / ขนาดแฟ้ม 2,986 KB
    เช่น =SumProduct((IDRange=ID)*NumRange)
กรณีใช้สูตร SumIF เพื่อหายอดรวมตามเงื่อนไข 2 เงื่อนไขต่อเนื่องกัน
  • สูตร SumIF ใช้ได้เพียงเงื่อนไขเดียวจึงไม่ได้นำมาทดสอบ
  • สูตร SumIFArray ใช้เวลา 2 นาที 23 วินาที / ขนาดแฟ้ม 9,716 KB
    เช่น {=Sum(IF(IDRange=ID,IF(KeyRange=Key,NumRange)))}
  • สูตร SumArray ใช้เวลา 2 นาที 39 วินาที / ขนาดแฟ้ม 8,633 KB
    เช่น {=Sum((IDRange=ID)*(KeyRange=Key)*NumRange)}
  • สูตร SumProduct แบบใส่เครื่องหมาย -- ใช้เวลา 2 นาที 30 วินาที / ขนาดแฟ้ม 5,168 KB
    เช่น =SumProduct(--(IDRange=ID),--(KeyRange=Key),NumRange)
  • สูตร SumProduct แบบใส่เครื่องหมายคูณ ใช้เวลา 2 นาที 33 วินาที / ขนาดแฟ้ม 5,165 KB
    เช่น =SumProduct((IDRange=ID)*(KeyRange=Key),NumRange)
  • สูตร SumProduct แบบใส่เครื่องหมายคูณทุกตัว ใช้เวลา 2 นาที 42 วินาที / ขนาดแฟ้ม 5,166 KB
    เช่น =SumProduct((IDRange=ID)*(KeyRange=Key)*NumRange)
  • สูตร SumProduct แบบใส่เครื่องหมายคูณ 1 ใช้เวลา 2 นาที 50 วินาที / ขนาดแฟ้ม 5,171 KB
    เช่น =SumProduct((IDRange=ID)*1,(KeyRange=Key)*1,NumRange)
กรณีใช้สูตร VLookup VS Match
  • VLookup แบบ Approaching Match ใช้เวลาไม่ถึง 1 วินาที / ขนาดแฟ้ม 2,979 KB
    แต่ถ้าหาค่าไม่พบ (Not Available) ใช้เวลา 3 วินาที
    เช่น =VLookup(ID,DataRange,2)
  • Match แบบ Approaching Match ใช้เวลาไม่ถึง 1 วินาที / ขนาดแฟ้ม 2,976 KB
    แต่ถ้าหาค่าไม่พบ (Not Available) จะแสดงตำแหน่งสุดท้าย ใช้เวลาไม่ถึง 1 วินาที
    เช่น =Match(ID,IDRange) 
  • VLookup แบบ Exact Match ขนาดแฟ้ม 2,981 KB
    โดยจะใช้เวลานานขึ้นหากตำแหน่งค่าที่ใช้หาห่างจากบรรทัดแรกมากขึ้น
    แต่ถ้าหาค่าไม่พบ (Not Available) ใช้เวลา 7 วินาที
    เช่น =VLookup(ID,DataRange,2,0) 
  • Match แบบ Exact Match ขนาดแฟ้ม 2,979 KB
    โดยจะใช้เวลานานขึ้นหากตำแหน่งค่าที่ใช้หาห่างจากบรรทัดแรกมากขึ้น
    เช่น =Match(ID,IDRange,0)
นอกจากนั้นยังได้ทดสอบสูตรบวกลบคูณหาร ซึ่ง Excel คำนวณเร็วมากใช้เวลาคำนวณไม่ถึงวินาที แต่พบว่าขนาดแฟ้มจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นกับความยาวของสูตรที่ใช้ เช่น =1+2+3+4+5 มีขนาดแฟ้มใหญ่กว่า =A2+5 โดยที่ A2 มีสูตร =1+2+3+4 เพื่อคำนวณส่วนแรกแยกไว้ก่อน
เมื่อต้องเลือกระหว่างขนาดแฟ้มหรือความเร็วในการคำนวณ
ประเด็นเรื่องความอ้วนอุ้ยอ้ายของแฟ้มตามที่กล่าวมาทั้งหมดในบทความนี้จะไม่เป็นสาระสำคัญหากคิดแต่เพียงว่า ถ้าแฟ้มใหญ่ขึ้น หรือคอมพิวเตอร์ช้าลง เราก็ซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่หรือซื้อ RAM มาเพิ่มหน่วยความจำในเครื่องให้มากขึ้นก็แก้ปัญหาได้แล้ว แต่ถ้าคิดกันง่ายๆเช่นนี้ ปัญหาที่เกิดจากการใช้ Excel จะยิ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ Excel 2007 ขึ้นไป โดยในชีทหนึ่งมีกว่า 10,000 column และกว่า 1 ล้าน row ซึ่งย่อมทำให้ผู้ใช้ Excel ที่ขาดความรู้พื้นฐาน และขาดวินัยในการสร้างงาน สร้างแฟ้มงานที่จะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองในที่สุด
แต่ถ้าต้องเลือกระหว่างขนาดแฟ้มหรือความเร็วในการคำนวณ ในความคิดเห็นส่วนตัวขอเลือกความเร็วในการคำนวณว่ามีความสำคัญมากกว่าเรื่องของขนาด เพราะปัญหาเรื่องขนาดแฟ้มเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ไม่ยาก แค่หาทางแยกตารางที่ไม่จำเป็นต้องถูกเรียกใช้งานพร้อมกันออกไปเก็บเป็นแฟ้มต่างหากก็ทำให้แฟ้มเล็กลงเรียบร้อยแล้ว และแม้จะแยกตารางออกเป็นแฟ้มเล็กๆไม่ได้ เรายังสามารถจัดเก็บแฟ้มลงไปในสื่อได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น USB Drive, CD, DVD, หรือฮาร์ดดิสก์ ซึ่งปัจจุบันมีความจุมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมากในขณะที่มีราคาลดลง
ส่วนประเด็นในเรื่องความเร็วของการคำนวณนั้นแม้ถือว่าสำคัญกว่าเรื่องขนาดแฟ้ม แต่ความเร็วเป็นเรื่องของความรู้สึก เป็นเรื่องยากที่จะหาเกณฑ์มาวัดว่าอย่างนี้เร็วหรือช้า มักใช้ความรู้สึกของคนที่ต้องนั่งรอคอยคำตอบเป็นตัวชี้วัด ถ้ายังรอกันได้ ก็ยังไม่เดือดร้อนหาทางอื่นที่จะทำให้แฟ้มคำนวณเร็วขึ้น ดังนั้นประเด็นเรื่องความเร็วในการคำนวณ จึงต้องถือเป็นภาระหน้าที่ของผู้สร้างงาน ต้องคอยติดตามเสมอว่าสูตรหรือวิธีที่ตนเพิ่งสร้างใหม่ลงไปในตาราง ส่งผลให้แฟ้มงานนั้นคำนวณช้าลงไปกว่าเดิมอย่างผิดสังเกตหรือไม่ และต้องลองสร้างสูตรหลายๆแบบที่สามารถให้คำตอบเดียวกัน แต่ใช้เวลาคำนวณเร็วที่สุด ซึ่งควรพิจารณาผลในระยะยาวที่มีต่อตัวเองหรือผู้อื่นที่ร่วมใช้แฟ้มงานเดียวกันด้วยว่า ทุกคนสามารถใช้แฟ้มงานได้สะดวก เมื่อต้องการย้อนกลับมาปรับปรุงแก้ไข ต้องสามารถทำได้ง่ายในระยะเวลารวดเร็ว แม้จะทำให้แฟ้มมีขนาดใหญ่ขึ้น และคำนวณช้าลงก็ตาม 

ลดขนาด File Excel กันดีกว่า


http://www.tpa.or.th/xlsiam/training/manual/uncertainty/dbf02.html


มาลดขนาด File กันดีกว่า
Excel sheet หนึ่งๆมีจำนวนเซลล์มากกว่า 16 ล้านเซลล์ (65,536 rows x 256 columns) เคยทดลอง copy แค่ตัวเลข 1 ลงไปทุกเซลล์ กว่าจะ copy เสร็จ กินเวลากว่านาที เสียเวลาในการจัดเก็บเกือบนาที (เครื่องที่ใช้ทดลองนี้เป็น Pentium III 933 MHz, RAM 192 MB) แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือ file นี้มีขนาดปาเข้าไปเกือบ 100 megabyte ไม่ใช่หน่วยพัน แต่เป็นหน่วยล้านตัวอักษรทีเดียว
ขนาด file Excel นอกเหนือจากข้อมูลที่บันทึกลงไปในเซลล์ ขนาดของ file xls ยังขึ้นอยู่กับ
  1. เซลล์ที่ถูกใช้
  2. เซลล์ที่ถูกอ้าง
  3. เซลล์ที่ใช้ format
ดังนั้นหากบันทึกสูตร =A2 ลงไปในเซลล์ A1 แม้ในเซลล์ A2 จะไม่มีค่าอะไรก็ตาม ถือว่ามีเซลล์ถูกใช้งาน 2 เซลล์เรียบร้อยไปแล้ว และถ้ากำหนด format ให้กับเซลล์อีก จะทำให้ขนาดของ file ใหญ่ขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม ขนาด file Excel ไม่ได้ใหญ่ขึ้นตามจำนวนข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเสมอไป เนื่องจาก Excel มีระบบอัจฉริยะในการลดขนาดให้เหลือเล็กที่สุดที่เป็นไปได้ ขนาด file จะมีขนาดใหญ่ขึ้นตามแบบขั้นบันได เช่น เมื่อเปิด file ขึ้นมาแล้วจัดเก็บเลย จะมีขนาดประมาณ 14 kb แต่เมื่อบันทึกข้อมูลลงไปแล้วจัดเก็บ อาจไม่ทำให้ขนาดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ขนาดจะคงเดิมไประยะหนึ่ง จนกว่าจะบันทึกข้อมูลเพิ่มถึงอีกขั้นบันไดหนึ่ง file ก็จะมีขนาดใหญ่เพิ่มตามไป และจะคงระดับใหม่นี้ไปอีกระยะหนึ่งเช่นกัน
แม้จะมีกว่า 16 ล้านเซลล์ในแต่ละ sheet จำนวนข้อมูลที่เพิ่มขึ้น จำนวนเซลล์ที่ใช้ จะทำให้ขนาด file ใหญ่ เมื่อขนาดใหญ่ขึ้น Excel จะทำงานช้าลง ยิ่ง file ใหญ่มากขึ้นๆๆๆ Excel จะยิ่งทำงานช้าลง ช้าลง จนในที่สุด Pentium ที่ใช้อยู่จะกลายเป็นเต่า ทำงานช้าจนทนไม่ไหวไปเลย
สาเหตุที่ทำให้ทำงานช้าลงไปนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาด file เพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับ format ที่ใช้ด้วย เคยทดลองกำหนด format font ให้กับเซลล์ เรียกว่า ใช้ font หนึ่งๆกับเซลล์หนึ่งๆ ให้ใช้ทุก font ที่มีอยู่ แค่ 300 font ก็ใช้ 300 เซลล์นี่เอง ทำให้ file มีขนาดเล็กนิดเดียว สามารถจัดเก็บได้สบายๆ แต่ไม่สามารถเปิดขึ้นมาใช้งานบนเครื่องที่มี RAM น้อยๆ (Random Access Memory: หน่วยความจำ)
วิธีลดขนาด File
  1. ใช้ Format เพียงเท่าที่จำเป็น และใช้กับเซลล์ที่ใช้งานเท่านั้น ไม่ใช่เลือกทั้ง column/row แล้วยังกำหนด format เฉพาะส่วนตารางที่ใช้ซ้อนเข้าไปอีก

    หากกำหนด Format ให้กับทั้ง Sheet/Row/Column จะทำให้ Excel จำพื้นที่ซึ่งกำหนด Format ได้โดยตรง จึงดีกว่าการกำหนด Format เฉพาะบางส่วนของตาราง ซึ่งเพิ่มภาระให้ Excel ต้องจำส่วนที่ใช้แยกเป็นส่วนๆว่า เซลล์ไหนจากไหนถึงไหนใช้สีอะไร
  2. ลบข้อมูล, สูตร, Range Name, Comment, รูปภาพ, Custom Format, Conditional Formatting, VBA Code ที่ไม่ได้ใช้ออกไป เมื่อสร้างงานเสร็จแล้วควรสั่ง delete row/column/sheet ที่ไม่ได้ใช้แล้วออกไปเสมอ
  3. file หรือ sheet ที่ใช้เก็บฐานข้อมูล หรือสูตรคำนวณไม่จำเป็นต้องกำหนด format ให้ใช้ format กับเซลล์ซึ่งใช้แสดงผลเท่านั้น
  4. สร้างสูตร link ข้าม file เพื่อเปิดใช้เฉพาะ file ที่ต้องการคำนวณหรือแสดงผลเท่านั้น file อื่นๆสามารถจัดเก็บไว้ใน harddisk แล้วใช้คำสั่ง Edit > Links > Update Links แทนการเปิด file ขึ้นมาใช้งาน ช่วยประหยัดหน่วยความจำ RAM
  5. สร้างสูตรลัด หรือสูตรซึ่งรวมหลายๆสูตรเข้าเป็นสูตรๆเดียว หรือใช้สูตรประเภท Array ลงไปในเซลล์เดียว แทนที่จะใช้สูตรแยกกระจายลงไปในเซลล์หลายๆเซลล์
  6. ใช้ชื่อสั้นที่สุด เพียงพอที่จะสื่อถึงความหมายของชื่อที่ใช้
  7. ปรับฐานข้อมูลแบบ flat-file ให้เป็นฐานข้อมูลแบบ relational database
Flat-file
เป็นฐานข้อมูลซึ่งเก็บข้อมูลทั้งหมดลงในตารางเดียว ทำให้มีข้อมูลซ้ำกันอยู่มาก ส่งผลให้ file ใหญ่ และทำงานช้าลง รูปแบบของ Flat-file เช่น
Relational Database
เป็นการใช้ตารางหลายๆตารางร่วมกัน โดยโยงความสัมพันธ์ของข้อมูลจากตารางหนึ่งไปยังอีกตารางหนึ่ง เช่น ตามตัวอย่างนี้ เมื่อกำหนดรหัสให้กับข้อมูลส่วนที่ซ้ำกัน แล้วแยกออกเป็นตารางรหัสต่างหาก จะทำให้ข้อมูลทั้งหมดถูกจัดเป็นระเบียบและทำให้ file มีขนาดเล็กลงมาก
ประโยชน์นอกจากจะช่วยลดขนาด file ลงไปมากแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาในการบันทึกค้นหาข้อมูล ลดโอกาสผิดพลาดในการบันทึกข้อมูล และสามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลในตารางหนึ่ง จะช่วยแก้ไขข้อมูลในตารางอื่นให้เองทันที
การเชื่อมโยงตารางแบบ Relational Database เข้าด้วยกัน ให้ใช้สูตรด้านจัดการฐานข้อมูล เช่น IF CHOOSE VLOOKUP MATCH INDEX เป็นต้น

วิธีการติดตั้งและถอดถอน Windows 7 และ Windows 8 แบบ Dual-Boot

** เป็นข้อมุลที่รวบรวมเรื่องที่สนใจจาก Internet ต้นฉบับตาม link ข้างล่างนี้ ***
http://thaiwinadmin.blogspot.com/2012/03/how-to-dual-boot-windows-7-and-windows.html
http://thaiwinadmin.blogspot.com/2012/03/remove-windows-8-from-dual-boot-windows.html

How to Dual-Boot Windows 7 and Windows 8

วิธีการติดตั้ง Windows 7 และ Windows 8 แบบ Dual-Boot
บทความนี้ผมขอสาธิตวิธีการติดตั้ง Windows 8 Consumer Preview* บนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการติดตั้ง Windows 7 อยู่แล้วเพื่อให้ทำงานแบบ Dual-Boot** โดยก่อนดำเนินการติดตั้งจะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ดังนี้
  1. แผ่นดีวีดีสำหรับติดตั้ง Windows 8 หรือ Bootable Windows 8 USB Flash Drive  สำหรับรายละเอียดการดาวน์โหลด windows 8 Consumer Preview สามารถอ่านได้ ที่นี่
  2. เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับทดสอบที่ติดตั้ง Windows 7 ไว้เรียบร้อยแล้ว ในที่นี้ใช้รุ่น Windows 7 SP1 Enterprise 32-bit ติดตั้งบนระบบที่ใช้ซีพียู Intel Core i5-2400 3.10 GHz มีหน่วยความจำ 4 GB ฮาร์ดดิสก์ 500 GB จำนวน 1 ตัว
  3. ฮาร์ดดิสก์ต้องมีที่ว่างอย่างน้อย 1 พาร์ติชัน และต้องมีพื้นที่ว่างอย่างต่ำ16 GB สำหรับการในกรณีติดตั้ง Windows 8 32-bit และ 20 GB สำหรับการในกรณีติดตั้ง Windows 8 64-bit (หากมีแผนที่จะทำการติดตั้งแอพพลิเคชันเพิ่มเติมจะต้องใช้พื้นที่ฮาร์ดดิสก์มากกว่านี้)

หมายเหตุ:
*เนื่องจาก Windows 8 CP ยังไม่ใช่ซอฟต์แวร์เวอร์ชันเต็ม ดังนั้นควรทำการติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับทดสอบเท่านั้นเพื่อป้องกันความเสียหายจากปัญหาที่คาดไม่ถึง
** ไม่แนะนำให้ทำบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานจริงเพราะอาจทะให้ระบบเสียหายได้ ในกรณีที่ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับทดสอบสามารถใช้โปรแกรม VMware Player แทนได้โดยสามารถศึกษาขั้นตอนการติดตั้ง Windows 8 CP บน VMware Player ได้ ที่นี่

ขั้นตอนการติดตั้ง Windows 7 และ Windows 8 แบบ Dual-Boot
ขั้นตอนการติดตั้ง Windows 7 และ Windows 8 แบบ Dual-Boot นั้นส่วนใหญ่จะเหมือนกับการติดตั้งแบบปกติ ยกเว้นขั้นตอนการเลือกพาร์ติชัน (ขั้นตอนที่ 7) และมีขั้นตอน Choose an Operating System (ขั้นตอนที่ 9) เพิ่มขึ้นมา 1 ขั้นตอน โดยมีขั้นตอนการติดตั้งทั้งหมดดังนี้
1. ทำการบูตเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยแผ่นดีวีดีติดตั้ง Windows 8 หรือ Bootable Windows 8 USB Flash Drive จะได้ปรากฏหน้าจอ Windows 8 Consumer Preview ดังรูปที่ 1 ให้รอจนการบูทระบบแล้วเสร็จ

รูปที่ 1

2. ในหน้าต่าง Install Windows ดังรูปที่ 2 ให้เลือกภาษาที่ต้องการ และตั้งค่าอื่นๆ ตามความต้องการ เสร็จแล้วคลิก Next เพื่อไปยังขั้นตอนต่อไป
ในที่นี้เลือก:
  • Language to install: English
  • Time and currency format: English (United States)
  • Keyboard or input method: US

รูปที่ 2

3. ในหน้าต่างดังรูปที่ 3 ให้คลิก Install Now เพื่อเริ่มการติดตั้ง Windows 8 Consumer Preview

รูปที่ 3

4. ในหน้าต่าง Enter the product key to activate Windows ดังรูปที่ 4 ให้ใส่หมายเลขผลิตภัณฑ์ของ Windows 8 Consumer Preview เป็น DNJXJ-7XBW8-2378T-X22TX-BKG7J เสร็จแล้วคลิก Next เพื่อไปยังขั้นตอนถัดไป

รูปที่ 4

5. ในหน้าต่าง License terms ดังรูปที่ 5 ให้อ่าน License Terms เสร็จแล้ว ให้คลิกเช็คบ็อกซ์ I accept the license terms จากนั้นคลิก Next เพื่อไปยังขั้นตอนถัดไป

รูปที่ 5

6. ในหน้าต่าง Which type of installation do you want? ดังรูปที่ 6 ให้เลือกเป็น Custom: Install Windows only (advanced)

รูปที่ 6

7. ในหน้าต่าง Where do you want to install Windows? ดังรูปที่ 7 ให้เลือก Partition ที่ต้องการติดตั้ง (ต้องเป็นคนละพาร์ติชันที่ติดตั้ง Windows 7 - การเลือกพาร์ติชันผิดอาจจะทำให้ระบบ Windows 7 เสียหายได้) โดยในที่นี้เลือก Drive 0 Unallocated Space - 80GB ซึ่งพื้นที่ว่างที่ยังไม่มีการแบ่งให้กับพาร์ติชันใดๆ เสร็จแล้วคลิก Next

รูปที่ 7

8. ระบบจะเริ่มทำการติดตั้ง Windows 8 Consumer Preview โดยจะดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ดังนี้ คือ Copying Windows files, Expanding Windows files, Installing features, Installing updates และ Completing installation ให้รอจนการติดตั้งแล้วเสร็จ

รูปที่ 8

9. หลังจากทำการรีสตาร์ทระบบจะปรากฏหน้าต่าง Choose an Operating System ลักษณะดังรูปที่ 9 ให้เลือกเข้าระบบ Windows 8 Consumer Preview เพื่อดำเนินการติดตั้งในขั้นตอนที่เหลือต่อ

รูปที่ 9

10. หลังจากทำการติดตั้งแล้วเสร็จ Windows จะทำการรีสตาร์ทเครื่อง จากนั้นจะปรากฏหน้าต่าง Personalize ดังรูปที่ 10 ให้ทำการกำหนดชื่อเครื่องคอมพิวเตอร์โดยใส่ชื่อที่ต้องการในช่อง PC name เสร็จแล้วคลิก Next

รูปที่ 10

11. ในหน้าต่าง Settings ดังรูปที่ 11 ให้คลิก Use express settings เพื่อทำการตั้งค่าระบบแบบด่วน

รูปที่ 11

12. ในหน้าต่าง Sign in to your PC ดังรูปที่ 12 ให้คลิกลิงก์ Don't want to sign in with a Microsoft account?

รูปที่ 12

13. ในหน้าต่าง Sign in to your PC ดังรูปที่ 13 ให้คลิกปุ่ม Local account

รูปที่ 13

14. ในหน้าต่าง Sign in to your PC ดังรูปที่ 14 ให้กำหนดชื่อผู้ใช้ในช่อง User name แล้วกำหนดรหัสผ่านที่ต้องการ 2 ครั้ง ในช่อง Password และ Retype password จากนั้นพิมพ์ข้อมูลช่วยจำรหัสผ่านในช่อง Password hint เสร็จแล้วคลิก Next

รูปที่ 14

15. ระบบจะทำการจัดเตรียมระบบตามการตั้งค่า เมื่อเสร็จแล้วก็จะปรากฏหน้า Start ดังรูปที่ 15

รูปที่ 15

ทั้งนี้ ในการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกครั้งระบบจะแสดงหน้าต่าง Choose an Operating System (รูปที่ 9 ) ให้เลือกเข้าระบบปฏิบัติการที่ต้องการ หากไม่มีการเลือกภายใน 30 วินาที ระบบจะบูทเข้า  Windows 8 Consumer Preview โดยอัตโนมัติ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

บทความโดย: Thai Windows Administrator Blog

Copyright © 2012 TWA Blog. All Rights Reserved.

How to remove Windows 8 from Dual-Boot Windows 7 ?

วิธีการลบ Windows 8 ที่ติดตั้งแบบ Dual-Boot กับ Windows 7
การทดสอบระบบปฏิบัติการ Windows โดยทำการติดตั้งแบบ Dual-Boot นั้นมีข้อดีคือทำให้สามารถทำการทดสอบ Windows 2 ตัวได้บนคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว อย่างเช่น การติดตั้ง Windows 7 แบบ Dual-Boot กับ Windows 8 Consumer Preview ซึ่งเป็นเวอร์ชันทดสอบสำหรับผู้ใช้ทั่วไปหรือ Windows 8 Developer Preview ซึ่งเป็นเวอร์ชันทดสอบสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลังจากทดสอบเสร็จแล้วหากทำการลบ Windows 8 ออกอย่างไม่ถูกวิธีอาจจะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่สามารถบูทด้วย Windows 7 ได้ ซึ่งทำให้ต้องเสียเวลาติดตั้ง Windows 7 ใหม่

ทั้งนี้ ให้ทำการสำรองหรือย้ายข้อมูลสำคัญบน Windows 8 ไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัยให้เรียบร้อยก่อนที่จะทำการลบออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์ สำหรับวิธีการลบ Windows 8 ที่ติดตั้งแบบ Dual-Boot กับ Windows 7 ที่ถูกต้องนั้นสามารถทำได้ง่ายๆ และไม่ต้องใช้โปรแกรมพิเศษช่วย เพียงแต่ต้องทำให้ถูกขั้นตอน ดังนี้
  • ขั้นตอนที่ 1. ทำการตั้งค่าให้ Windows 7 เป็น Default Operating System
  • ขั้นตอนที่ 2. ทำการลบพาร์ติชันที่ติดตั้ง Windows 8

ข้อควรระวัง: ไม่ทำการติดตั้ง Windows 8 Consumer Preview บนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานจริง เพราะอาจทำให้ข้อมูลสูญหายได้

หมายเหตุ: สำหรับวิธีการติดตั้ง Windows 7 และ Windows 8 แบบ Dual-Boot สามารถอ่านได้ ที่นี่

ขั้นตอนที่ 1. ทำการตั้งค่าให้ Windows 7 เป็น Default Operating System
ขั้นตอนที่ 1 สามารถทำได้ทั้งบนระบบ Windows 7 และ Windows 8 ในกรณีที่กำหนดให้ Windows 7 เป็น Default Operating System อยู่แล้วให้ข้ามไป ขั้นตอนที่ 2

1. ทำการล็อกออนเข้า Windows ด้วยผู้ใช้กลุ่ม Administrators แล้วทำการเปิด System Properties โดยการกดปุ่ม Windows + Break จะปรากฏหน้าต่าง System จากนั้นให้คลิกลิงก์ Advanced system settings ซึ่งแสดงอยู่ในคอลัมน์ช้ายมือของหน้าต่าง System จะปรากฏหน้าต่างดังรูปที่ 1 จากนั้นให้คลิกปุ่ม Settings ที่อยู่ในหัวข้อ Startup And Recovery

Tip: สามารถเปิดหน้าต่าง System Properties พร้อมแท็บ Advanced ได้โดยการกดปุ่ม Windows + R จากนั้นพิมพ์ systempropertiesadvanced เสร็จแล้วกดปุ่ม Enter

รูปที่ 1

2. ในหน้าต่าง Startup and Recovery ดังรูปที่ 2 ในส่วน System Startup ในหัวข้อ Default Operating System ให้เลือกรายการจากดร็อปดาวน์เป็น Windows 7 โดยชื่อจะแตกต่างกันในแต่ละระบบ ในที่นี้เป็น Windows 7 Enterprise (recovered) เสร็จแล้วคลิก OK จากนั้นในหน้าต่าง System Properties ให้คลิก OK อีกครั้ง

รูปที่ 2

ขั้นตอนที่ 2. ทำการลบพาร์ติชันที่ติดตั้ง Windows 8
ขั้นตอนที่ 2 นี้ต้องทำบนระบบ Windows 7 เท่านั้น
1. ในกรณีที่เครื่องคอมพิวเตอร์กำลังรันด้วย Windows 7 ให้ข้ามไปข้อที่ 2 แต่ถ้ากำลังรันด้วย Windows 8 ให้ทำการรีสตาร์ทเครื่องแล้วเลือกบูทเข้า Windows 7 จากนั้นดำเนินการข้อที่ 2
2. ทำการล็อกออนเข้า Windows 7 ด้วยผู้ใช้กลุ่ม Administrators จากนั้นคลิกปุ่ม Start พิมพ์ diskmgmt.msc ในช่อง Search programs and files แล้วกดปุ่ม Enter จะปรากฏหน้าต่าง Disk Management จากนั้นคลิกขวาบนพาร์ติชันที่ติดตั้ง Windows 8 แล้วเลือก Delete Volume

รูปที่ 3

หลังจากทำการลบพาร์ติชันที่ติดตั้ง Windows 8 เสร็จแล้วจะสามารถใช้งาน Windows 7 ได้ตามปกติ ส่วนพาร์ติชันที่เคยติดตั้ง Windows 8 สามารถทำการฟอร์แมตเพื่อใช้เก็บข้อมูลหรือใช้งานอื่นๆ ตามต้องการได้เหมือนพาร์ติชันปกติ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

บทความโดย: Thai Windows Administrator Blog

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
• Fix It Wiz Kid

Copyright © 2012 TWA Blog. All Rights Reserved.

วิธีการอัปเกรด Windows 7 เป็น Windows 8 Consumer Preview แบบ In-Place โดยใช้ Windows 8 USB Flash Drive

** เป็นข้อมุลที่รวบรวมเรื่องที่สนใจจาก Internet ต้นฉบับตาม link ข้างล่างนี้ ***

http://thaiwinadmin.blogspot.com/2012/03/upgrade-from-windows-7-to-windows-8.html

How to In-Place upgrade from Windows 7 to Windows 8 ?

วิธีการอัปเกรด Windows 7 เป็น Windows 8 Consumer Preview แบบ In-Place โดยใช้ Windows 8 USB Flash Drive
การอัปเกรดจาก Windows 7 ไปเป็น Windows 8 แบบ In-Place Upgrade สามารถทำได้ 2 วิธี วิธีที่ 1 คือการใช้โปรแกรม Windows 8 Consumer Preview Setup ซึ่งเป็นโปรแกรมแบบเว็บเบสที่รวมเอาคุณสมบัติที่มีใน Upgrade Advisor, Setup และ Windows Easy Transfer มาอยู่ในโปรแกรมเดียว ส่วนวิธีที่ 2 คือการใช้ชุดติดตั้ง Windows 8 แบบดีวีดีหรือยูเอสบีแฟลชไดรฟ์

สำหรับวิธีการอัปเกรด Windows 7 เป็น Windows 8 โดยใช้ Windows 8 Consumer Preview Setup นั้นผมได้สาธิตไปก่อนหน้านี้ ในบทความนี้จึงขอสาธิตการอัปเกรด Windows 7 ไปเป็น Windows 8 โดยใช้ชุดติดตั้ง Windows 8 CP แบบยูเอสบีแฟลชไดรฟ์ (วิธีการนี้สามารถใช้ได้กับแผ่นดีวีดีติดตั้ง Windows 8)

สำหรับวิธีการสร้างชุดติดตั้ง Windows 8 CP แบบยูเอสบีแฟลชไดรฟ์สามารถอ่านได้ที่เว็บไซต์ Create a bootable USB flash drive with Windows 8 setup ส่วนวิธีการติดตั้ง Windows 8 CP สามารถอ่านได้ที่เว็บไซต์ Clean Install Windows 8

In-Place Upgrade
In-Place Upgrade คือการอัปเกรดจาก Windows เวอร์ชันที่กำลังติดตั้งและรันอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ไปเป็น Windows เวอร์ชันใหม่กว่า สำหรับการอัปเกรดเป็น Windows 8 แบบ In-Place นั้นจะมีฟังก์ชันช่วยในการย้ายแอพพลิเคชัน, การตั้งค่าของระบบ Windows และบัญชีผู้ใช้พร้อมข้อมูลของผู้ใช้ ขึ้นไปยังระบบใหม่ได้ทำให้ไม่ต้องทำการติดตั้งแอพพลิเคชัน ตั้งค่าระบบ และบัญชีผู้ใช้พร้อมข้อมูลของผู้ใช้ ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับเวอร์ชันที่ทำการอัปเกรด ดังรูปที่ 1

รูปที่ 1

สำหรับวิธีการอัปเกรด Windows 7 (ในที่นี้ใช้รุ่น Enterprise พร้อมกับ SP1) ไปเป็น Windows 8 CP แบบ In-Place โดยใช้ชุดติดตั้ง Windows 8 CP แบบยูเอสบีแฟลชไดรฟ์ มีขั้นตอนดังนี้

1. บูทเครื่องคอมพิวเตอร์ทดสอบเข้าระบบ Windows 7 แล้วไซน์อินด้วยผู้ใช้กลุ่ม Administrator จากนั้นให้ต่อยูเอสบีแฟลชไดรฟ์สำหรับติดตั้ง Windows 8 CP เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วเปิด Windows Explorer โดยคลิก Start แล้ว Computer แล้วคลิกเลือกไดรฟ์ที่จะใช้ติดตั้ง Windows 8 จากนั้นคลิกบนไฟล์ Setup.exe แล้วคลิก Yes ในหน้า UAC (ถ้ามี) จะปรากฏหน้าต่าง Get the latest ดังรูปที่ 2 ให้เลือกหัวข้อที่ต้องการเสร็จแล้วคลิก Next เพื่อไปยังขั้นตอนถัดไป

รูปที่ 2

2. ในหน้าต่าง Product key ดังรูปที่ 3 ให้ใส่หมายเลขผลิตภัณฑ์ของ Windows 8 Consumer Preview ที่ได้รับจากการดาวน์โหลด หรือใส่เป็น DNJXJ-7XBW8-2378T-X22TX-BKG7J เสร็จแล้วคลิก Next เพื่อไปยังขั้นตอนถัดไป

รูปที่ 3

3. ในหน้าต่าง License terms ดังรูปที่ 4 จากนั้นให้คลิกเลือกช่อง I accept the license terms เพื่อยอมรับข้อตกลงการใช้งาน เสร็จแล้วคลิกปุ่ม Accept เพื่อไปยังขั้นตอนถัดไป

รูปที่ 4

4. ในหน้าต่าง What do you want to keep in Windows 8 Consumer Preview? ดังรูปที่ 5 จะมี 3 ตัวเลือกให้เลือกดำเนินการ ดังนี้
  1. Windows Settings, personal files, and apps ทำการอัปเกรด Windows ที่กำลังรันอยู่ไปเป็น Windows 8 CP โดยย้ายข้อมูลการตั้งค่าของ Windows, ข้อมูลส่วนตัว และแอพต่างๆ ขึ้นไปอยู่บน Windows 8 CP
  2. Just personal files ทำการอัปเกรด Windows ที่กำลังรันอยู่ไปเป็น Windows 8 CP โดยย้ายเฉพาะ ข้อมูลส่วนตัวไปบน Windows 8 CP
  3. Nothing ทำการอัปเกรด Windows ที่กำลังรันอยู่ไปเป็น Windows 8 CP โดยไม่ย้ายข้อมูลเก่า (ลบทิ้งทั้งหมด)

รูปที่ 5

ในที่นี้เลือกเป็นตัวเลือกที่ 1: Windows Settings, personal files, and apps จากนั้นคลิก Next เพื่อไปยังขั้นตอนถัดไป

5. ระบบจะทำการตรวจสอบโปรแกรมที่มีการติดตั้งอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ และจะแสดงหน้าต่าง What you need to do ดังรูปที่ 6 แจ้งให้ทำการถอนการติดตั้งโปรแกรมที่ไม่สนับสนุน Windows 8 ออก (ถ้ามี)

ถ้ามีโปรแกรมที่ไม่สนับสนุน Windows 8 ดังรูปที่ 6 ให้คลิกปุ่ม Uninstall เพื่อถอนโปรแกรมที่มีปัญหาออก หลังจากทำการถอนโปรแกรมที่มีปัญหาเสร็จแล้ว ระบบจะแจ้งให้ทำการรีสตาร์ทระบบดังรูปที่ 4 ให้คลิกปุ่ม Restart PC แล้วรอจนระบบพร้อมทำงาน (!ในระหว่างนี้ห้ามถอดยูเอสบีแฟลชไดรฟ์หรือเอาแผ่นดีวีดีออกจากไดรฟ์)

รูปที่ 6

รูปที่ 7

5. หลังจากรีสตาร์ทเสร็จจะปรากฏหน้าต่าง Ready to install Windows 8 Consumer Preview ดังรูปที่ 8 ให้เลือก Continue from where I left off เสร็จแล้วคลิก Next เพื่อไปยังขั้นตอนถัดไป

รูปที่ 8

6. ในหน้าต่าง Ready to install ดังรูปที่ 9 ให้ตรวจสอบความถูกต้อง หากมีข้อผิดพลาดให้คลิกปุ่ม Back เพื่อทำการแก้ไข หากไม่มีให้คลิกปุ่ม Install เพื่อเริ่มการติดตั้ง Windows 8 CP

รูปที่ 9

ระบบจะทำการติดตั้ง Windows 8 Consumer Preview โดยในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาดำเนินการนานหลายนาที และมีการรีสตาร์ทเครื่องหลายรอบ

รูปที่ 10

7. หลังจากทำการติดตั้ง Windows 8 CP และย้ายข้อมูลต่างๆ แล้วเสร็จจะปรากฏหน้าต่าง Personalize ให้เลือกสีของฉากหลังดังรูปที่ 11 ให้เลือกสีที่ต้องการเสร็จแล้วคลิก Next เพื่อไปยังขั้นตอนถัดไป

รูปที่ 11

8. ทำการไซน์อินเข้า Windows 8 โดยใช้ Username และ Password ที่เคยใช้กับ Windows 7 (ในขั้นตอนที่ 1) จากนั้นจะปรากฏหน้า Start ดังรูปที่ 12

รูปที่ 12

ผลการอัปเกรด Windows 7 เป็น Windows 8
การอัปเกรด Windows 7 เป็น Windows 8 ในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยโปรแกรมต่างๆ ซึ่งรวมถึง Microsoft Office 2010,  ข้อมูลการตั้งค่าระบบ และบัญชีผู้ใช้บน Windows 7 ได้ถูกย้ายขึ้นไปอยู่บน Windows 8 โดยอัตโนมัติ โดยโปรแกรมต่างๆ สามารถใช้งานได้ตามปกติแต่พบปัญหาเล็กน้อยในส่วนกราฟิกไดรเวอร์ซึ่งคาดว่าบริษัทผู้ผลิตกราฟิกการ์ดน่าจะออกไดรเวอร์สำหรับ Windows 8 เมื่อมีการออกเวอร์ชันเต็ม

ความเห็นของผู้เขียน
ผู้เขียนประทับใจการอัปเกรด Windows 7 เป็น Windows 8 ค่อนข้างมาก เพราะมีขั้นตอนที่ง่าย มีตัวช่วยในกรณีมีโปรแกรมที่ไม่สนับสนุน Windows 8 และโปรแกรมต่างๆ ที่เคยติดตั้งเคยติดตั้งอยู่บน Windows 7 ซึ่งรวมถึง Microsoft Office 2010 ถูกย้ายขึ้นไปอยู่บน Windows 8 โดยอัตโนมัติ โดยเฉพาะ Microsoft Office 2010 นั้นนอกจากสามารถใช้งานได้ตามปกติแล้วที่สำคัญ "ยังรักษาสถานะการแอคติเวตไว้อีกด้วย" ซึ่งน่าจะทำให้ไมโครซอฟท์ใช้เป็นจุดแข็งเพื่อโน้มน้าวผู้ใช้ Windows 7 ให้อัปเกรดเป็น Windows 8 ได้ง่ายขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

บทความโดย: Thai Windows Administrator Blog

Copyright © 2012 TWA Blog. All Rights Reserved.

เทคนิคการล็อกออนเข้า Windows 7

** เป็นข้อมุลที่รวบรวมเรื่องที่สนใจจาก Internet ต้นฉบับตาม link ข้างล่างนี้ ***
http://thaiwinadmin.blogspot.com/2012/03/how-to-log-on-locally-or-to-domain-on.html

How to log on locally or to domain on Windows 7?

รวมเทคนิคการล็อกออนเข้า Windows 7 ที่เป็นสมาชิกโดเมนด้วยบัญชีผู้ใช้แบบโลคอลและโดเมน
โดยทั่วไปแล้วการล็อกออนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ Windows 7 ที่เป็นสมาชิกแอคทีฟไดเร็กทอรี่โดเมน นั้นจะต้องใช้บัญชีผู้ใช้ของโดเมนเป็นหลัก แต่ในบางสถานการณ์ผู้ใช้หรือผู้ดูแลระบบอาจจะประสบปัญหาหรือความยุ่งยากในการล็อกออนเข้าเครื่อง ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องการล็อกออนด้วย Administrator* ของโดเมน หรือชื่อบัญชีของโดเมนแต่ซ้ำกับบัญชีในโลคอล Windows 7 จะทำการสลับให้ล็อกออนด้วย Administrator หรือบัญชีของโลคอลโดยอัตโนมัติ หรือเมื่อต้องการล็อกออนด้วยบัญชีผู้ใช้โลคอลจะต้องใส่ชื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วย เป็นต้น

สำหรับบทความนี้ ผมจึงรวบรวมเทคนิคการล็อกออนเข้า Windows 7 ที่เป็นสมาชิกโดเมนด้วยบัญชีผู้ใช้แบบโลคอลและโดเมนมาฝาก ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

หมายเหตุ: *ในกรณีของการใช้งานทั่วไปไม่แนะนำให้ล็อกออนด้วย Administrator ของโดเมน แต่ควรล็อกด้วยบัญชีผู้ใช้ที่มีสิทธิ์ระดับ Users ธรรมดาแทน

1. วิธีการล็อกออนเข้า Windows 7 ที่เป็นสมาชิกโดเมนด้วยบัญชีผู้ใช้แบบโลคอล
โดยทั่วไปแล้วการล็อกออนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ Windows 7 ที่เป็นสมาชิกโดเมนด้วยนั้นจะต้องใช้บัญชีผู้ใช้ของโดเมนแต่ในกรณีที่ต้องการล็อกออนด้วยบัญชีผู้ใช้ของโลคอลซึ่งเป็นบัญชีผู้ใช้ที่มีใน Windows 7 นั้นทำได้โดยการใส่ชื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ตามด้วยครื่องหมายแบ็คสแลชแล้วตามด้วยบัญชีที่ต้องการ (ดูตัวอย่างรูปที่ 1 ประกอบ) ดังนี้computer name\username แต่วิธีการนี้มีข้อด้อยคือต้องใส่ชื่อเครื่องคอมพิวทำให้เสียเวลาในการพิมพ์โดยเฉพาะถ้าหากเป็นชื่อที่ยาวหลายตัวอักษร

รูปที่ 1

สำหรับวิธีการล็อกออนเข้า Windows 7 ที่เป็นสมาชิกโดเมนด้วยบัญชีผู้ใช้ของโลคอลที่ง่ายและรวดเร็วทำได้โดยการใช้เครื่องหมายมหัพภาค (Period) หรือ . ตามด้วยเครื่องหมายแบ็คสแลชแล้วตามด้วยบัญชีที่ต้องการ (ดูตัวอย่างรูปที่ 2 ประกอบ) ดังนี้.\username ข้อดีของวิธีนี้คือไม่ต้องใส่ชื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ทำให้ลดเวลาในการพิมพ์ลง

รูปที่ 2

2. วิธีการล็อกออนเข้า Windows 7 ที่เป็นสมาชิกโดเมนด้วย Administrator ของโดเมน
ในการล็อกออนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ Windows 7 ที่เป็นสมาชิกโดเมนด้วย Administrator ของโดเมน เมื่อผู้ใช้ทำการพิมพ์ "administrator" (หรือบัญชีที่มีชื่อเหมือนกันทั้งบนโดเมนและโลคอล เช่น user01 เป็นต้น) Windows 7 จะทำการสวิตช์ให้ล็อกออนด้วยบัญชีโลคอลโดยอัตโนมัติ ดังนั้นหากไม่ทันสังเกต หลังจากป้อนรหัสผ่านของโดเมนและกดปุ่ม Enter ทำให้ได้ล็อกออนเข้าเครื่องไม่ได้โดยจะได้รับข้อความว่า "The user name or password is incorrect"

สำหรับวิธีการล็อกออนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ Windows 7 ที่เป็นสมาชิกโดเมนด้วย Administrator ของโดเมนทำได้ 2 แบบ ดังนี้
  • แบบที่ 1: ใส่ชื่อโดเมนตามด้วยครื่องหมายแบ็คสแลชแล้วตามด้วย Administrator ดังนี้ domain name\administrator
  • แบบที่ 2: ใส่ Administrator ตามด้วยเครื่องหมาย @และชื่อโดเมน ดังนี้administrator@domain name
ข้อควรทราบ: วิธีการนี้สามารถใช้กับการล็อกออนด้วยบัญชีในทุกกลุ่มของโดเมน

รูปที่ 3

ทั้งนี้ วิธีการเหล่านี้สามารถใช้ในการเชื่อมต่อผ่านทาง Remote Desktop Connection ได้เช่นเดียวกัน

อนึ่ง ถ้าหากต้องการความช่วยเหลือในการล็อกออน ให้คลิกลิงก์ How do I log on to another domain? จะปรากฏหน้าไดอะล็อกบ็อกซ์ดังรูปที่ 4 ในกรณีไม่เห็นลิงก์ดังกล่าวให้กดปุ่ม Ctrl + Alt + Delete แล้วคลิก Switch User จากนั้นคลิก Other User

รูปที่ 4

บทความโดย: Thai Windows Administrator Blog

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
• Windows 7 IT Pro Forums

Copyright © 2012 TWA Blog. All Rights Reserved.